Friday, January 15, 2016

วิจารณ์ภาพยนตร์ - Movie Review : The Dressmaker แค้นลั่น ปังเว่อร์

The Dressmaker (2015) 
kobe's meter : 8/10 

"ถ้าผมเป็นผู้หญิง ผมคงให้คะแนนเรื่องนี้เต็ม 10" 
"มันคือหนังที่มีเนื้อเรื่องแบบที่ Cannes ชอบ แต่ไม่น่าเบื่อและต้องพยายามดูให้เข้าใจขนาดนั้น เพราะมันดูสนุกเหมือนหนัง Box Office ตลาดๆนี่แหละ" 
นี่คือความรู้สึกหลังจากที่ออกมาจากโรงภาพยนตร์



The Dressmaker เล่าเรื่องย้อนไปปี 1951  Tilly (Kate Winslet) กลับมายังบ้านเกิด Dungatar  เมืองเล็กๆไร้ความเจริญในออสเตรเลีย พร้อมจักรเย็บผ้าและรองเท้าส้นสูงเพื่อมาหาตัวตนที่แท้จริงที่เธอเคลือบแคลงใจมาตลอดเวลา 25 ปี หลังจากที่ถูกบังคับให้ออกจากเมืองนี้ไปในข้อหาฆาตกรรมในตอนที่เธออายุ 10 ขวบเท่านั้น

*บอกก่อนว่านี่คือความคิดเห็นในมุมและการตีความของเราเท่านั้นนะ*

The Dressmaker เป็นหนังที่ไม่มีตรงกลาง ซึ่งทำให้มันสนุกอย่างร้ายกาจ หนังจับเอาความเป็น Rom-com มาใช้หลอกคนดูเพื่อลดความแรงของบรรยากาศ แต่จริงๆมันไม่ใช่หนังแบบนั้นเลย มันเป็นดราม่าที่มืดหม่น มันคือ Revenge-Drama Horror แบบเดียวกับหนังอย่าง Bram Stoker's Dracula's หรือ Mary Shelly's Frankenstien  ที่เล่าเรื่องในฉากหลังแบบสมัยใหม่ และไม่หม่นหมองหดหู่จนขายไม่ออกใน Box Office  

เราชอบการทวิสต์ของจังหวะหนังที่เกิดขึ้นตลอดเวลาแต่ไม่กระชาก เหมือนคนขับรถเร็ว แซงปรู๊ดปร้าดแต่ไม่จี้ตูดคันหน้าและเบรคหัวทิ่ม เกตมะ คืออารมณ์ของแต่ละเหตุการณ์ในหนัง มันจะนิ่งๆ แต่คำตอบของมันจะตบหน้าเราแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เป็นจิตวิทยาสามัญที่เราพบเจอได้ในสังคมทุกวันนี้นี่แหละ แต่เราตอแหลกันไปเองว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น

เอาเรื่องดาราก่อน เพราะหนังเกลี่ยบทให้ตัวละครที่ถือว่าหลายหลายมากๆ ได้มีส่วนร่วมในเส้นเรื่องกันแบบขาดใครไปสักคนไม่ได้ เราว่าความเด่นชัดของบทบาทที่ชัดเจนในแต่ละคัวละครนี้แหละ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ดันให้หนังสนุกมาก 



Kate Winslet (Tilly) เป็นอะไรที่ไม่ต้องพูดมาก เล่นเรื่องไหนก็ปังเอาหนังอยู่ สำหรับเรื่องนี้ เราว่าเคททำได้ดีมาก เคทไม่ theatrical เราชอบเธอ เธอสวยคลาสสิคและไม่ผอม ด้วยวัย 40 กะรัต เราว่าเคทสวยสมวัยที่สุดแล้ว ถึงจะดูแก่ไปนิดเวลาโครสอัปหน้าใกล้ๆมากๆ ซึ่งมีหลายตอน


Liam Hemsworth (Teddy) เล่นเป็นหนุ่มบ้านนาตากแดดตัวแดงที่ดูอบอุ่นอย่างไม่น่าเชื่อ ปกติเราไม่เคยมองว่าเลียมหล่อเลย เพราะสัดส่วนเครื่องหน้าไม่พอดีเท่าพี่ชาย แต่เล่นเรื่องนี้แล้วหล่อมาก สาวๆหลงกันเลยล่ะ


Hugo Weaving (จ่า Farret) คนชอบเยอะเพราะสร้างสีสันให้เรื่องมาก เป็นคีย์ไอเท็มของหนัง แต่เราเคยเห็นฮิวโกที่แรงมากกว่านี้สมัย Priscilla  


Judy Davis (Molly) แม่ของ Tilly นี่เลย สุดยอดของความพีค ขโมยซีนรัวๆ คือถ้าไม่ใช่เคท สงสัยบททิลลี่คงตาย ชอบนางมาก นางมี facial act ที่ร้ายกาจ นางดูน่าสงสาร ดูน่ารังเกียจ ดูตลก และดูฉลาดเฉลียว ครบถ้วนตามบทอย่างแท้จริง ส่วนตัวละครอื่นๆก็เล่นกันได้ดีทุกคน นักแสดงออสซี่มักมีของอยู่แล้ว

โลเคชั่นการถ่ายทำ ฉาก แสง โทนสี เสื้อผ้าหน้าผม ทุกอย่างสวยไม่ขัดใจ เพลงประกอบเพราะ รวมๆดีมากสำหรับสเกลหนังขนาดเล็ก 

สปอยล์จัดหนัก**
ทีนี้มาที่บทมั่งอันนี้แหละสำคัญ เรามองว่าบทของหนังเรื่องนี้เป็นการตีโจทย์เรื่องเพศ กิเลสของคนในสังคมอย่างชัดเจน หนังเล่นกับอารมณ์และสันดานของคนตรงๆ โดยเอาความตอแหล สร้างภาพ ทิฐิ อคติ ยะโส และอาฆาตพยาบาท มาเป็นคีย์เวิร์ดในการชี้นำการกระทำทุกๆอย่างของตัวละครที่เป็นเหตุให้เรื่องราวมันดำเนินไป .. นั่นคือพลังเงียบที่มองไม่เห็น เหมือนชีวิตจริงๆของคนเราที่ทุกวันนี้ เราก็ถูกอารมณ์ที่มีพลังเหล่านี้กำหนดชีวิตเราอยู่แบบเนียนๆ


คือพอหนังมันเริ่มเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ มันจะค่อยๆชัดเจนขึ้นๆ คือการที่ทิลลี่ถูกสังคมรังเกียจ มันเริ่มมาจากกระทำของเด็กเปรต สจ๊วต แพรท ที่แกล้งเธอ แล้วเธอก็มาโดนตัดสินจากอัลวิน แพรท ว่าเธอเป็นฆาตกร ต้องไล่ออกไปจากเมือง โดยสั่งให้จ่าฟาเรตต์เป็นคนมาจับไป คือทุกขั้นตอนที่เป็นปัจจัยหลัก ถูกกระทำโดยผู้ชายที่มีร่างกายเป็นชาย และมีอำนาจสูงสุดในสังคม ในขณะที่ผู้ที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์อย่างเกอร์ทรูท ครูบิวลาห์ ดันยืนเป็นพยานให้ทิลลี่เป็นคนผิด และแม้แต่มอลลี่ แม่ของทิลลี่เองก็ไม่สามารถช่วยลูกสาวของเธอจากการถูกใส่ร้ายนี้ได้เลย ผู้หญิงไม่มีบทบาทเชิงบวกในเหตุการณ์ครั้งนั้นแม้แต่นิดเดียว นี่เป็นการบอกให้เรารู้ว่า ผู้ชายคือผู้นำและผู้หญิงคือผู้ตาม และขนาดการคลี่คลายปมในใจของทิลลี่ ก็ยังเกิดจากเทดดี้ มาเป็นอัศวินม้าขาว ดึงทิลลี่ออกมาจากความมืดมิดในใจ 

การเอาแฟชั่นมาเล่นเป็นคีย์หลัก คือการตีโจทย์ที่ตรงประเด็นและเข้าใจง่ายที่สุด เพราะแฟชั่นคืออาวุธของสตรีอย่างแท้จริง จากการที่ทิลลี่คือหญิงที่ถูกสาบ เป็นคนนอกที่แปลกแยกและไม่เป็นที่ต้อนรับ ออกจะเป็นที่รังเกียจเลยด้วยซ้ำ กลับกลายเป็นคนที่ใครๆก็อยากคบหาในชั่วข้ามคืน เพราะเธอทำให้ผู้หญิงพวกนั้นดูสวยขึ้นในโอต์กูตูร์ที่เธอตัดให้ ผู้หญิงทุกคนอยากเป็นเพื่อนเธอ แม้แต่เธอเองที่ตั้งการ์ดกับสังคมนี้มาตลอด ก็เริ่มรู้สึกโน้มเอียงเข้าหาสังคมนี้เช่นกัน สังเกตได้จากการที่เธอยอมเปิดใจให้เทดดี้ที่ตามตื้อเธอมาตั้งแต่ต้น 

หนังสอนให้เราเข้าใจว่า มนุษย์นั้นมีความเป็นสัตว์สังคม เราถูกทำให้เชื่อในสิ่งที่สังคมบอกให้เราเชื่อ เราถูกทำให้เป็นในสิ่งที่สังคมบอกว่าเราเป็น และเราจะเป็นอะไรมากกว่านั้นไม่ได้ นอกจากว่าเราจะขึ้นมาเป็น"ผู้นำ"ในสังคมนั้นเอง ซึ่งฉากของหนังสะท้อนให้เห็นชัดเลยว่า ในสังคมขนาดเล็กมากๆอย่างในเมือง Dungatar ที่มีคนแค่ไม่กี่สิบคน สังคมยังมีอิทธิพลมากขนาดนี้ แล้วในสังคมใหญ่ๆที่มีคนอาศัยกันเป็นล้านคนล่ะ เราเองก็คือใครสักคนใน Dungatar นี่แหละ  และทันทีที่ทิลลี่กลายเป็นผู้นำ ในที่นี้คือเธอกำหนดทิศทางการแต่งตัวที่เป็น"เปลือก"ให้คนทั้งเมือง เธอเป็นที่ยอมรับทันที และดูเหมือนว่าเธอจะเริ่มทำให้อัลวิน แพรท ชายผู้ซึ่งเป็นผู้นำในเมืองนี้ เริ่มอึดอัดใจ จนทำสิ่งเลวร้ายตามที่เขาถนัดอีกครั้ง 

ถ้าเรามาดูพฤติกรรมของตัวละครทั้งหมด จะเห็นว่าจริงๆแล้ว มนุษย์นั้นต้องการสนองกิเลสของตัวเองทุกคน แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม การสนองนั้นมันไม่อยู่ในขอบเขตแห่งศีลธรรม มันจะนำมาซึ่งหายนะ

ทิลลี่ที่สวย เก่งและมีความสามารถ เหมือนจะมั่นใจตัวเองมากจนกล้าที่จะกลับมาที่ Dungatar เพื่อมาแก้แค้นแต่จริงๆแล้วเธออ่อนไหวและบอบบางมาก ตอนที่เธอนอนร้องไห้บนที่นอนและมอลลี่เข้ามาปลอบเป็นช่วงเวลาที่จริงที่สุดของเธอ เธอต้องการแม่ เธอต้องการคนที่รู้จักเธอจริงๆ ที่รักและดูแลเธอ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เธอกลับมา แท้จริงแล้วเธอไม่ได้กลับมาเพื่อแก้แค้น เธอแค่กลับมาหาสิ่งที่เธอผูกพันและยึดเหนี่ยวเอาไว้ต่างหาก เธอเดินทางไปไกลข้ามทวีป มีอนาคตที่สดใสที่ไหนก็ได้ แต่เธอเลือกที่จะกลับมาที่นี่หลังจากเวลาผ่านไปนับสิบๆปี ทิลลี่ เลือกที่จะกลับมาหาความจริง และไม่ว่าความจริงนั้นจะเป็นอย่างที่เธอคิดไว้ในใจรึเปล่า เธอก็ไม่แคร์ แต่เธอขอรู้มันด้วยตัวเอง และมันจะทำให้เธอมีความสุขขึ้น หรือเจ็บปวดขึ้น เธอก็ยอมรับมันได้ทั้งนั้น 

ในตอนจบ .... ทิลลี่ขึ้นรถไฟออกจากเมือง Dungatar สายตาที่มองไปยังบ้านที่เธอเคยอยู่ค่อยๆไกลออกไป มันช่างดูเฉยชาเหมือนคนที่ปลงได้กับชีวิต ว่าสุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน 
พลันเจ้าหน้าที่เดินตั๋วรถไฟถามเธอว่า เธอจะไปที่ไหน ทิลลี่ตอบลอยๆว่า ปารีส เจ้าหน้าที่รถไฟบอกกับเธออย่างงงๆว่า  รถไฟขบวนนี้ไปสุดสายที่เมลเบิร์นเท่านั้น ทิลลี่หันมามองเจ้าหน้าที่รถไฟแล้วตอบว่า "ค่ะ ถ้างั้นชั้นลงที่เมลเบิร์น" แต่สายตาเธอตอบชัดเจนว่า ชั้น.. จะไปปารีส พร้อมรอยยิ้มที่มุมปาก ทิลลี่ดูสวยที่สุดในตอนนั้นนั่นเอง 
ทิลลี่คือเราทุกคน 
..เราที่มีความมั่นใจ แต่ก็ต้องการกำลังใจ 
..เราที่เก่งกาจ แต่ก็ต้องการคนยอมรับ
และสุดท้ายคือเราต้องเชื่อมั่นในตัวเราเองเพื่อที่จะได้เดินหน้าต่อไปได้









No comments:

Post a Comment